ความเป็นมา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ รัชกาลที่ 9 ทรงลงพระนามปรมาภิไธย ในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2548 พระราชบัญญัติได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2548 ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 2 เล่มที่ 122 ตอนที่ 6 ก ทำให้เกิดมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ขึ้นใหม่ 9 แห่ง แต่ละแห่งเกิดจากการรวมหน่วยงานเดิมของ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ทั้ง 9 แห่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ โดยให้มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันอุดมศึกษาด้านวิชาชีพและเทคโนโลยี มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษาส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ที่เน้นการปฏิบัติ ทำการสอน การวิจัย ผลิตครูวิชาชีพ ให้บริการทางวิชาการในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่สังคม ทำนุบำรุงศิลปและวัฒนธรรมและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ทั้ง 9 แห่ง ประกอบด้วย
1.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
2.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ
3.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลภาคตะวันออก
4.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
5.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์
6.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
7.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย
8.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ
9.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน
ซึ่งในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. 2548 มาตรา 7 กำหนดให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เป็นสถาบันอุดมศึกษาด้านวิชาชีพและเทคโนโลยี มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษา ส่งเสริมวิชาการ และวิชาชีพชั้นสูงที่เน้นการปฏิบัติ ทำการสอน ทำการวิจัย ผลิตครูวิชาชีพ ให้บริการทางวิชาการในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แก่สังคม ทำนุบำรุงศิลปและวัฒนธรรม และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยให้ผู้สำเร็จอาชีวศึกษามีโอกาสในการศึกษาต่อด้านวิชาชีพเฉพาะทางระดับปริญญาเป็นหลัก
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ซึ่งเกิดจากการรวมคณะและวิทยาเขตของสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลในกลุ่มภาคใต้ 5 หน่วยงานเข้าด้วยกัน ได้แก่ 1.คณะเกษตรศาสตร์ (ทุ่งใหญ่)
จ. นครศรีธรรมราช, 2.วิทยาเขตนครศรีธรรมราช (ไสใหญ่) จ.นครศรีธรรมราช, 3.วิทยาเขตศรีวิชัย(ขนอม) จ.นครศรีธรรมราช, 4.คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง จ.ตรัง และ 5.วิทยาเขตภาคใต้ จ.สงขลา
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย มีพื้นที่จัดการศึกษา 4 จังหวัด
จังหวัดสงขลา จัดการศึกษา เป็น 5 คณะ 1 วิทยาลัย
•คณะวิศวกรรมศาสตร์
•คณะบริหารธุรกิจ
•คณะศิลปศาสตร์
•คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
•คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี
•วิทยาลัยรัตภูมิ
จังหวัดตรัง จัดการศึกษา เป็น 1 คณะ 1 วิทยาลัย
•คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง
•วิทยาลัยการโรงแรมและการท่องเที่ยว
จังหวัดนครศรีธรรมราช จัดการศึกษา เป็น 5 คณะ 1 วิทยาลัย
•คณะเกษตรศาสตร์
•คณะอุตสาหกรรมเกษตร
•คณะสัตวแพทยศาสตร์
•คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
•คณะเทคโนโลยีการจัดการ
•วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรมและการจัดการ
จังหวัดชุมพร
พื้นที่ชุมพร เป็นส่วนงานวิจัยและฝึกอบรมชุมพร สังกัดคณะเกษตรศาสตร์